วิตามิน คืออะไร
สารประกอบอินทรี ที่มีปริมาณน้อยแต่มีความสำคัญต่อการทำงานของร่างกายมนุษย์ วิตามินมีความแตกต่างจากสารอาหารจำเป็นประเภทอื่น เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน แม้ว่าสารอาหารเหล่านี้เป็นสารอาหารที่ขาดไม่ได้และมีความจำเป็น แต่ร่างกายสามารถสร้างได้เองในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการ
ในทางกลับกันมนุษย์ไม่สามารถสังเคราะห์วิตามินได้เพียงพอตามที่ร่างกายต้องการ มนุษย์จึงจำเป็นต้องได้รับวิตามินจากอาหารหรือแหล่งอื่นๆ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมวิตามินจึงถือว่าเป็นสารอาหารที่มีความสำคัญ ร่างกายของเราต้องการวิตามินเพียงเล็กน้อยเพื่อเป็นตัวเร่ง หรือควบคุมปฏิกิริยาเคมีที่สำคัญในร่างกา ดังนั้นหากร่างกายขาดหรือได้รับวิตามินไม่เพียงพออาจทำให้เกิดโรคได้
การแบ่งประเภทของวิตามิน
แบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ วิตามินละลายในน้ำ และวิตามินละลายในไขมัน
- วิตามินละลายในน้ำ จะถูกขับออกทางปัสสาวะ จึงอยู่ในร่างกายได้ไม่นาน ดังนั้นร่างกายจึงต้องการวิตามินละลายน้ำมากกว่าวิตามินที่ละลายในไขมัน
- วิตามินละลายในไขมัน ได้แก่ วิตามิน A วิตามิน D วิตามิน E และวิตามิน K ซึ่งวิตามินเหล่านี้จะถูกสะสมในเซลล์ไขมันและตับ สามารถอยู่ในร่างกายได้ในระยะเวลาหลายวันหรือหลายเดือน การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงจะช่วยในการดูดซึมวิตามินเหล่านี้
ชนิดของวิตามิน หน้าที่ อาการที่เกิดขึ้นหากขาดวิตามินและแหล่งที่มา
ชนิดของวิตามิน | ชื่ออื่น ๆ | หน้าที่ | อาการที่เกิดขึ้นหากขาดวิตามิน | แหล่งที่มาของวิตามิน |
วิตามินละลายในน้ำ | ||||
วิตามิน B1 | Thiamine | เป็นส่วนประกอบในกระบวนการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต รวมไปถึงช่วยในการทำงานของระบบประสาท | ระบบประสาทและกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ | ยีสต์ เนื้อหมู ผลิตภัณฑ์ซีเรียล เมล็ดทานตะวัน หน่อไม้ฝรั่งดอกกระหล่ำปลี มันฝรั่ง ส้ม ตับและไข่ |
วิตามิน B2 | Riboflavin | เป็นส่วนประกอบในการสร้างพลังงาน รวมไปถึงกระบวนการเผาผลาญไขมัน วิตามิน แร่ธาตุ | ผิวหนัง ลิ้น ริมฝีปากอักเสบ การทำงานของสายตาถูกรบกวนและมีอาการของระบบประสาท | หน่อไม้ฝรั่ง กล้วย นม โยเกิร์ต เนื้อ ไข่ ปลา |
วิตามิน B3 | Niacin, Nicotinic acid, Nicotinamide | เป็นส่วนประกอบในกระบวนการเผาผลาญระดับเซลล์ กระบวนการออกซิเดชันของไขมันและกระบวนการสร้างสเตียรอยด์ | มีแผลที่ผิวหนัง ระบบทางเดินอาหารทำงานผิดปกติ มีอาการทางระบบประสาท | ไก่ เนื้อวัว ปลาทูน่า แซลมอน นม ไข่ มะเขือเทศ บล็อกโคลี่ แครอท ผักใบเขียว ถั่ว เต้าหู้ |
วิตามิน B5 | Pantothenic acid | เป็นตัวช่วยในกระบวนเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต โปรตีนและไขมัน | อ่อนเพลีย ไม่มีแรง การทำงานของระบบย่อยอาหารผิดปกติ นอนไม่หลับ กระวนกระวาย คลื่นไส้ | เนื้อ ธัญพืช บล็อกโคลี อะโวคาโด โยเกิร์ต |
วิตามิน B6 | Pyridoxine, Pyridoxal, Pyridoxamine | เป็นส่วนประกอบในกระบวนการเผาผลาญกรดอะมิโนและสารที่มีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบ ช่วยในกระบวนการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด | ผิวหนังอักเสบ สับสน ชัก โลหิตจาง | ถั่ว ตับ กล้วย |
วิตามิน B7 | Biotin | เป็นตัวช่วยในกระบวนเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต กรดอะมิโนและไขมัน | ผิวหนังอักเสบ ผมร่วง กระจกตาอักเสบ มีอาการทางระบบประสาท | ไข่แดง ตับ บล็อกโคลี ผักโขม ชีส |
กรดโฟลิก | Folate, Folacin, Pteroylglutamic acid | เป็นตัวช่วยในกระบวนการสร้างสารพันธุกรรม(DNA) การแบ่งเซลล์ กระบวนการเผาผลาญโปรตีนและการเจริญเติบโตของเม็ดเลือดแดง | เม็ดเลือดแดงเจริญผิดรูปอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ใจสั่น ปากอักเสบ มีผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์หากขาดในสตรีมีครรภ์ | ผักใบเขียว ถั่ว ตับ ธัญพืช เม็ดทานตะวัน ผลไม้ |
วิตามิน B12 | Cobalamin, Cyanocobalamin | เป็นตัวช่วยในกระบวนเผาผลาญกรดอะมิโน รวมไปถึงกรดโฟลิกและไขมัน รวมทั้งช่วยในการสร้างเซลล์ใหม่ของร่างกาย การสร้างเม็ดเลือดและการทำงานของระบบประสาท | เจ็บลิ้น การรับรู้ช้าลง มีอาการทางระบบประสาท และการทำงานของทางเดินอาหารผิดปกติ โลหิตจาง | ปลา หอย เนื้อหมู สัตว์ปีก ไข่ นมและผลิตภัณฑ์จากนม ถั่วเหลือง |
วิตามิน C | Ascorbic acid | สารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยสร้างคอลลาเจน คาร์นีทีน กรดอะมิโนและฮอร์โมนรวมทั้งเป็นวิตามินที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันและเป็นตัวช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็ก | เหงือกบวมและเลือดออกข้อติด มีเลือดออกใต้ผิวหนัง แผลหายช้า โลหิตจาง | ผลไม้รสเปรี้ยว เช่น ส้ม มะนาว เบอร์รี่ต่างๆ ผัก เช่น บล็อกโคลี่ มันฝรั่ง |
วิตามินละลายในไขมัน | ||||
วิตามิน A | Retinol, Retinal, Retinoic acid, Beta-carotene (plant version) | เป็นตัวช่วยในการมองเห็น คงความแข็งแรงของเซลล์เยื่อบุผิวหนัง ช่วยในระบบสืบพันธุ์และพัฒนาการของตัวอ่อนในครรภ์ | มีผลต่อการทำงานของสายตา อาจทำให้ตาบอดได้ ผิวแห้ง เจริญเติบโตช้าในเด็ก มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ | ตับ น้ำมันตับปลา แครอท บล็อกโคลี่ มันฝรั่ง เนย ผักโขม ฟักทอง ชีส ไข่ นม |
วิตามิน D | Calciferol, Calatriol, Cholecalciferol, Ergocalciferol | ช่วยรักษาระดับแคลเซียมและฟอสฟอรัสในเลือด ช่วยเสริมสร้างแร่ธาตุในกระดูก | การเจริญเติบโตของกระดูกผิดปกติในเด็ก กระดูกเปราะในผู้ใหญ่ | แสงแดดในตอนเช้ากระตุ้นให้ร่างกายสร้างวิตามิน D ได้ และการรับประทานปลา ไข่ ตับ เห็ด |
วิตามิน E | Alpha-tocopherol, Tocopherol, Tocotrienol | เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และช่วยป้องกันไขมันบริเวณเยื่อหุ้มเซลล์ | ปลายประสาทอักเสบ เม็ดเลือดแดงแตก | จมูกข้าว กีวี แอลมอนด์ ไข่ ถั่ว ผักใบเขียว น้ำมันพืช |
วิตามิน K | Phylloquinone, Menaquinone, Menadione, Naphthoquinone | สร้างโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือด และการสลายของกระดูก | การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ มีเลือดออก | ผักใบเขียว ฟักทอง พาร์สลีย์ |
เรียบเรียงโดย ภญ.มัณฑนา ไล่ชะพิษ
อ้างอิง
1.) Alexandra P.[Internet]. Vitamins: What Are They, and What Do They Do? [updated 2020 Dec 15; cited 2022 March 2]. Available from: https://www.medicalnewstoday.com
2.) Baigent MJ.[Internet]. Vitamin [updated 2022 Feb 3; cited 2022 March 2]. Available from: https://www.britannica.com
3.) Mason JB, Booth SL. Vitamins, trace minerals, and other micronutrients. In: Goldman L, Schafer AI, eds. Goldman-Cecil Medicine. 26th ed. Philadelphia, PA: Elsevier; 2020:chap 205.