ประโยชน์ และความสำคัญของ วิตามิน บี12
วิตามิน B12 หรือ โคบาลามิน (cobalamin) เป็นวิตามินที่มีขนาดใหญ่และซับซ้อนมากที่สุด รวมทั้งเป็นสารอาหารที่มีความสำคัญต่อร่างกาย มักพบในเนื้อสัตว์ ไข่ หรือการสังเคราะห์จากกระบวนการหมักของแบคทีเรีย โดยหน้าที่หลักของวิตามิน B12 จะมีส่วนช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดงและสารพันธุกรรม รวมทั้งเป็นตัวช่วยสำคัญในการทำงานและพัฒนาของระบบประสาทและสมอง
โดยทั่วไปวิตามิน B12 จะจับกับโปรตีนในอาหาร เมื่อเข้าสู่กระเพาะอาหารจะถูกกรดและน้ำย่อยทำให้หลุดออกมาเป็นรูปแบบอิสระ เพื่อจับกับโปรตีนที่เรียกว่า intrinsic factor ก่อนจะเดินทางไปยังลำไส้เพื่อดูดซึม วิตามิน B12 เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำเช่นเดียวกับวิตามิน B ชนิดอื่น ๆ วิตามินชนิดนี้จึงสามารถละลายอยู่ในกระแสเลือดได้และจะถูกขับออกทางปัสสาวะ โดยร่างกายมนุษย์สามารถเก็บวิตามินชนิดนี้ไว้ได้นานถึง 4 ปี
ปริมาณที่แนะนำให้รับประทานต่อวัน
The National Institutes of Health (NIH) แนะนำในคนอายุ 14 ปีขึ้นไป คือ 2.4 ไมโครกรัมต่อวัน สำหรับสตรีมีครรภ์แนะนำให้บริโภค 2.6 ไมโครกรัมต่อวัน และในสตรีให้นมบุตรแนะนำ 2.8 ไมโครกรัมต่อวัน สำหรับปริมาณสูงสุดที่ร่างกายสามารถรับได้โดยไม่เกิดผลข้างเคียงคือ 25 ไมโครกรัมต่อวัน ในขณะเดียวกันมีการศึกษาพบว่าหากได้รับในปริมาณสูงอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหักได้
ตารางแสดงปริมาณวิตามิน B12 ที่ควรได้รับต่อวันแบ่งตามอายุ เพศ การตั้งครรภ์และให้นมบุตร
ที่มาของวิตามิน B12 ส่วนใหญ่พบได้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ และจะพบได้น้อยในผลิตภัณฑ์จากพืช เว้นแต่มีการใส่วิตามินเสริมเข้าไป โดยแหล่งอาหารที่มีวิตามิน B12 ได้แก่ เนื้อวัว เนื้อหมู แฮม สัตว์ปีก ปลา ไข่ ผลิตภัณฑ์จากนม เช่น นม ชีส โยเกิร์ต ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการหมักของยีสต์ เป็นต้น จะเห็นได้ว่าวิตามิน B12 สามารถพบได้ในแหล่งอาหารทั่วไป แต่ยังมีคนบางกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะขาดวิตามิน B12 หรือได้รับในปริมาณที่ไม่เพียงพอ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้รับประทานมังสวิรัติ และผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคทางเดินอาหารซึ่งเกี่ยวข้องกับการดูดซึม
อาการที่เกิดจากการขาดวิตามิน B12
หากขาดวิตามิน B12 อาจนำไปสู่อาการผิดปกติที่รุนแรงและไม่สามารถกลับคืนสู่สภาวะปกติได้ โดยเฉพาะอาการทางระบบประสาทและสมอง การขาดเพียงเล็กน้อยอาจทำให้เกิดอาการ สับสน ซึมเศร้า มีปัญหาด้านการจำ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ อารมณ์ฉุนเฉียว สมาธิสั้น และร้ายแรงถึงขั้นสูญเสียความจำได้ หากขาดวิตามินชนิดนี้ในเด็กอาการที่มีโอกาสเกิดขึ้น ได้แก่ อาการเคลื่อนไหวผิดปกติ รับประทานอาหารยาก ถ้าปล่อยไว้โดยไม่ทำการรักษาจะมีผลต่อการเจริญเติบโต
นอกจากอาการทางระบบประสาทและสมองที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว การขาดวิตามิน B12 ยังส่งผลทำให้เกิดโลหิตจางชนิด megaloblastic หรือโลหิตจางที่เกิดจากการขาดสารอาหาร ซึ่งเป็นกลไกของการสร้างสารพันธุกรรมที่ผิดปกติส่งผลให้เม็ดเลือดแดงมีขนาดใหญ่และมีลักษณะไม่สมบูรณ์ จึงทำให้เกิดความผิดปกติของการขนส่งออกซิเจนไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยอาการของโลหิตจางที่พบบ่อย ได้แก่ อ่อนเพลีย หัวใจเต้นผิดปกติ หายใจหอบเหนื่อย ในบางรายอาจมีอาการเจ็บบริเวณปากหรือลิ้น น้ำหนักลด ซีด ท้องเสีย หรือมีรอบเดือนผิดปกติได้
จะเห็นได้ว่าวิตามิน B12 เป็นสารอาหารที่มีความสำคัญต่อร่างกาย ซึ่งจะพบได้ในผลิตภัณฑ์จากสัตว์เป็นหลัก ในวัยผู้ใหญ่ควรได้รับในปริมาณ 2.4 ไมโครกรัมต่อวัน โดยร่างกายมนุษย์จะนำวิตามินชนิดนี้ไปใช้ในการทำงานของระบบประสาทและสมอง การสร้างเม็ดเลือดแดง และกระบวนการสำคัญอื่น ๆ ของร่างกาย ดังนั้นการขาดวิตามิน B12 จึงมีผลเป็นอย่างมากต่อการทำงานของระบบเหล่านี้ ในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะขาดวิตามินชนิดนี้จึงควรได้รับการเสริมอย่างเพียงพอเพื่อให้ร่างกายทำงานได้อย่างปกติ อย่างไรก็ตามการใช้วิตามิน B12 เพื่อเสริมอาหาร ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อให้ได้รับในปริมาณที่เหมาะสมและมีความปลอดภัย
Reference
- Harvard T.H.Chan.[Internet]. Vitamin B12. [updated 2021 March 2; cited 2022 March 10]. Available from: https://www.hsph.harvard.edu.
- National Institutes of health [Internet]. Vitamin B12 [updated 2022 March 9; cited 2022 March 10]. Available from: https://ods.od.nih.gov/factsheets/VitaminB12-HealthProfessional/.
- Kubala J [Internet]. Vitamin B12 benefits, food sources, deficiency symptoms, and all else you need to know [updated 2021 Dec 13; cited 2022 March 9]. Available from: https://www.medicalnewstoday.com.