โปรไบโอติก (Probiotics) คือ อะไร
เป็นปกติของร่างกายมนุษย์ที่ในร่างกายจะมีจุลินทรีย์อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก แบ่งประเภทโดยคร่าว ๆ ได้เป็น จุลินทรีย์ที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกาย จุลินทรีย์ที่ไม่ก่อประโยชน์และโทษ และจุลินทรีย์ที่เป็นโทษ เมื่อร่างกายเกิดความผิดปกติอาจส่งผลต่อสมดุลของจุลินทรีย์ได้ โดยเฉพาะจุลินทรีย์ที่อยู่ในทางเดินอาหาร
ประโยชน์ของโปรไบโอติก
โพรไบโอติกส์ (Probiotics) เป็นจุลินทรีย์ขนาดเล็กเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ชนิดดี ให้ประโยชน์แก่ร่างกาย เรียกได้ว่าเป็นจุลินทรีย์ประจำถิ่นหรือ normal flora อย่างหนึ่งในทางเดินอาหาร หากร่างกายมีสุขภาพดีก็จะมีการรักษาสมดุลจุลินทรีย์ให้เป็นปกติ แต่ถ้าหากมีอะไรไปรบกวนสมดุลจุลินทรีย์ในร่างกาย จุลินทรีย์ประจำถิ่นในลำไส้ถูกรุกราน อาจเกิดผลกระทบตามมาได้
จุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ ได้แก่
- เชื้อแบคทีเรีย :
- กลุ่ม Lactobacillus spp. เป็นแบคทีเรียที่เกาะติดลำไส้
- Bifidobacterium spp. เป็นแบคทีเรียที่ทนต่อกรดในกระเพาะอาหาร สามารถอยู่ในลำไส้ได้นาน เช่น Bifidobacterium longum, Bifidobacterium bifidum, Lactobacillus acidophilus, Lactococcus lactis เป็นต้น
- เชื้อยีสต์ : Saccharomyces boulardii
สามารถพบโพรไบโอติกส์ได้ในอาหาร เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต กิมจิ มิโสะ เป็นต้น ผู้เชี่ยวชาญด้านทางเดินอาหาร กล่าวว่า โพรไบโอติกส์ คือจุลินทรีย์ที่มีชีวิต เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะทำให้สุขภาพดี โดยเป็นจุลินทรีย์ที่สามารถจับที่บริเวณผิวของเยื่อบุลำไส้แล้วผลิตสารต่อต้านหรือกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ชนิดอื่น ๆ รวมถึงก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพได้ ดังนั้นการสร้างสภาวะความสมดุลระหว่าง normal flora และร่างกายนั้นจึงมีความสำคัญ ซึ่งการรับประทานโพรไบโอติกส์จึงเป็นทางเลือกอย่างหนึ่งในการเสริมจุลินทรีย์ชนิดดีและรักษาสมดุลจุลินทรีย์ในร่างกาย
จากการศึกษาพบว่าโพรไบโอติกส์มีประโยชน์ในช่วยบรรเทาความผิดปกติต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น อาการลำไส้แปรปรวน (IBS; irritable bowel syndrome) ท้องร่วงจากการติดเชื้อ ท้องเสียจากการที่ได้รับยาปฏิชีวนะ ผื่นแพ้ผิวหนัง
พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) คืออะไร
พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) คืออาหารชนิดหนึ่ง เป็นสิ่งไม่มีชีวิต ซึ่งร่างกายไม่สามารถย่อยและดูดซึมได้ อาหารเหล่าจะเดินทางไปสู่ลำไส้ใหญ่ได้ในรูปไม่เปลี่ยนแปลงสภาพ และจะถูกย่อยสลายโดยแบคทีเรียโพรไบโอติกส์ ทำให้กระตุ้นการเจริญเติบโตและการทำงานของแบคทีเรียได้
พรีไบโอติกส์มีหลายชนิด โดยมากมักพบว่าเป็นสารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต แต่ก็มีบางชนิดที่ไม่ใช่คาร์โบไฮเดรต จำแนกพรีไบโอติกส์ได้ ดังนี้
- Fructans
- galacto-oligosaccharides
- starch- and glucose-derived oligosaccharides
- pectic oligosaccharide
- non-carbohydrate oligosaccharides
พรีไบโอติกส์จะพบได้ในอาหารจำพวก หน่อไม้ฝรั่ง มะเขือเทศ ข้าวโอ๊ต หัวหอม กระเทียม กล้วย ข้าวบาร์เลย์ ถั่วเหลือง ถั่วแดง น้ำผึ้ง เป็นต้น
กล่าวโดยสรุปได้ว่า พรีไบโอติกส์เป็นอาหารของโพรไบโอติกส์นั่นเอง ดังนั้นหากรับประทานอาหารพวกพรีไบโอติกส์ก็จะช่วยส่งเสริมฤทธิ์โพรไบโอติกส์ได้ดียิ่งขึ้น
ขนาดที่แนะนำให้รับประทาน
โพรไบโอติก
- เด็ก 50,000 ล้าน – 100,000 ล้าน CFUs ต่อวัน (CFU = colony-forming unit)
- ผู้ใหญ่ 100,000 ล้าน – 200,000 ล้าน CFUs ต่อวัน
ขนาดของโพรไบโอติกส์ แบ่งตามชนิดของเชื้อจุลินทรีย์
เชื้อจุลินทรีย์โพนไบโอติกส์ | ปริมาณต่อวัน |
Lactobacillus rhamnosus | 100,000 ล้าน CFUs ต่อวัน |
Lactobacillus sp. Bifidobacterium sp | 100 ล้าน ถึง 35,000 ล้าน CFUs ต่อวัน |
Saccharomyces boulardii | 250 – 500 mg (รูปแบบแคปซูล) ต่อวัน |
พรีไบโอติกส์
ปริมาณพรีไบโอติกส์ที่บริโภคแล้วสามารถเห็นผล คือ 2.5 – 10 กรัมต่อวัน
อาการข้างเคียงที่อาจพบได้
โปรไบโอติก (Probiotics)
ส่วนใหญ่มักพบเมื่อมีการรับประทานในขนาดที่สูงเกินไป โดยอาจจะทำให้เกิดภาวะลมในท้องเพิ่มขึ้น เกิดท้องอืดหรือแน่นท้องได้
พรีไบโอติก (Prebiotics)
พรีไบโอติกส์ส่วนใหญ่มีความปลอดภัยสูง พบผลข้างเคียงได้น้อย แต่กรณีที่บริโภคในปริมาณที่มากเกินไปอาจมีอาการ เช่น ท้องอืด ปวดเกร็งท้อง ท้องเสีย เป็นต้น
Reference:
- MD Vrese, J Schrezenmeir. Probiotics, prebiotics, and synbiotics. Available at: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/18461293.
- K Maria, B Dimitrios, K Stavroula, et all. Health Benefits of Probiotics: A Review. Available at : https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4045285.
- M Paulina, S Katarzyna. Effects of Probiotics, Prebiotics, and Synbiotics on Human Health. Available at : https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5622781.
- K Benjamin, C Andreas. Probiotics. Am Fam Physician. 2008 Nov 1;78(9):1073-1078.
- K Jillian. You’ve Heard of Probiotics — But What Are Prebiotics? All You Need to Know. Available at : https://www.healthline.com/nutrition/prebiotics-benefits.