แคลเซียม เพื่อกระดูกและฟันที่แข็งแรง
แคลเซียม (Calcium) จัดเป็นเป็นแร่ธาตุซึ่งมีปริมาณสูงที่สุดในร่างกาย โดยเกือบทั้งหมดถูกสะสมอยู่ในกระดูกและฟันเพื่อเสริมสร้างความคงทนและแข็งแรงของโครงสร้างร่างกาย เสริมสร้างมวลกระดูก นอกจากนั้นแคลเซียมส่วนที่เหลืออยู่นอกกระดูกและฟันเองยังมีหน้าที่สำคัญต่อร่างกายในอีกหลายประการ เช่น ช่วยในการทำงานของกล้ามเนื้อ, การเต้นของหัวใจ, การส่งถ่ายสารสื่อประสาท, การหลั่งฮอร์โมนหลายชนิด ไปจนถึงการควบคุมการทำงานของการหดหรือคลายของหลอดเลือดต่าง ๆ ในร่างกาย
นอกจากนั้นการประทานแคลเซียมอย่างเพียงพอในแต่ละวันจะยังสามารถช่วยในเรื่องของการเพิ่มมวลกระดูก (bone mass density/BMD) และลดความเสี่ยงของการเกิดกระดูกหักในผู้ใหญ่ และช่วยในการป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) ได้อีกด้วย
ปริมาณแคลเซียมในร่างกาย
โดยปกติแล้วปริมาณแคลเซียมในเลือดของบุคคลที่มีสุขภาพแข็งแรงจะอยู่ระหว่าง 8.8 ถึง 10.4 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร อย่างไรก็ตาม ดังที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้าว่าแคลเซียมเกือบทั้งหมดของร่างกายจะถูกสะสมอยู่ในกระดูก ระดับแคลเซียมที่วัดได้จึงอาจไม่ได้แสดงให้เห็นถึงปริมาณแคลเซียมทั้งหมดของร่างกาย ในปัจจุบันจึงมีการใช้การทดสอบมวลกระดูกซึ่งแสดงถึงปริมาณแคลเซียมและแร่ธาตุสะสมในกระดูกได้ชัดเจนกว่าร่วมด้วย
สำหรับระดับแคลเซียมในเลือดที่ไม่อยู่ในช่วงปกติดังกล่าวสามารถแบ่งออกได้เป็นสองรูปแบบ คือ แคลเซียมในเลือดสูง (hypercalcemia) และภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ (hypocalcemia)
ภาวะการขาดแคลเซียม (Calcium deficiency)
การขาดแคลเซียมอาจก่อให้เกิดความผิดปกติและผลเสียต่อร่างกายได้หลายประการ โดยเฉพาะด้านความแข็งแรงของกระดูก ซึ่งอาจพัฒนาจนกลายเป็นโรคกระดูกพรุน หรือโรคกระดูกอ่อนในผู้ใหญ่ (Osteomalacia) ได้ในอนาคต นอกจากนั้นในวัยเด็กซึ่งเป็นวัยที่มีการเจริญเติบโตและพัฒนาของโครงสร้างร่างกาย การขาดแคลเซียมอาจก่อให้เกิดโรคกระดูกอ่อนในเด็ก (Rickets) ได้เช่นกัน
โดยมากแล้วภาวการณ์ขาดแคลเซียมมักไม่ได้เกิดจากการรับประทานแคลเซียมไม่เพียงพอ แต่เป็นผลมาสภาวะอื่น ๆ ของร่างกายเสียมากกว่า เช่น การขาดวิตามินดีหรือแมกนีเซียม, มีการทำงานของพาราไทรอยด์ฮอร์โมนผิดปกติ, ภาวะหมดประจำเดือนในเพศหญิง รวมไปถึงผู้ที่หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น ผู้ที่รับประทานอาหารเจและหลีกเลี่ยงการรับประทานนมหรือผลิตภัณฑ์จากนม ก็อาจเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะการขาดแคลเซียมได้เช่นกัน
ปริมาณแคลเซียมที่ร่างกายควรได้รับ
การได้รับแคลเซียมให้เพียงพอต่อระดับความต้องการของร่างกายเป็นสิ่งสำคัญต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายอันมีแคลเซียมเป็นส่วนประกอบ โดยการศึกษาในปี 2007-2011 แสดงให้เห็นว่าประชากรที่ได้รับแคลเซียมต่ำกว่าที่ควรมีจำนวนมากถึง 39% ของทั้งหมด
ปริมาณแคลเซียมที่ร่างกายควรได้รับต่อวันของแต่ละบุคคลจะขึ้นอยู่กับอายุ เพศ เชื้อชาติ และสภาวะของร่างกาย เช่น การตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โดยสำหรับชาวไทยกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดปริมาณแคลเซียมที่แนะนำให้บริโภคในแต่ละวันสำหรับกลุ่มอายุต่าง ๆ ไว้ดังนี้
กลุ่ม | อายุ | ปริมาณแคลเซียม (มิลลิกรัม) |
ทารก | 0-5 เดือน | 210 |
6-11 เดือน | 270 | |
เด็ก | 1-3 ปี | 500 |
4-8 ปี | 800 | |
วัยรุ่น | 9-18 ปี | 1,000 |
ผู้ใหญ่ | 19-50 ปี | 800 |
มากกว่า 50 ปี | 1,000 | |
หญิงตั้งครรภ์* | 800 | |
หญิงให้นมบุตร* | 800 |
*หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรที่เป็นวัยรุ่น ควรบริโภคแคลเซียมตามปริมาณที่แนะนำในช่วงวัยรุ่น
แหล่งที่มาของแคลเซียม และการรับประทานแคลเซียมเสริม
โดยทั่วไปแล้วอาหารที่ร่างกายรับประทานไประหว่างวันจะมีส่วนประกอบของแคลเซียมอยู่บ้างไม่มากก็น้อย แคลเซียมจะถูกพบได้มากที่สุดในผลิตภัณฑ์จำพวกนมหรือผลิตภัณฑ์จากนม ชีส โยเกิร์ต รองลงมาคือพืชผัก ธัญพืช ถั่ว ผลไม้ ตามลำดับ ส่วนอาหารอื่น ๆ เช่นเนื้อสัตว์หรือไข่เองก็มีแคลเซียมเป็นส่วนประกอบอยู่ แต่อาจมีปริมาณไม่มากนัก
นอกจากอาหารแล้ว อาหารเสริมและยาเองก็เป็นอีกแหล่งที่มาสำคัญของแคลเซียมเช่นกัน โดยผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียมที่มีอยู่ในท้องตลาดจะสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายชนิดตามแต่รูปแบบของแคลเซียมในผลิตภัณฑ์นั้น ๆ โดยแคลเซียมในแต่ละรูปแบบ นอกจากด้านอาการข้างเคียงที่อาจแตกต่างกันเล็กน้อย ก็ยังมีความแตกต่างในแง่ของปริมาณแคลเซียม (elemental calcium) ที่ให้กับผู้รับประทาน ดังนี้
ชนิดของแคลเซียม | ปริมาณแคลเซียม |
แคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium carbonate) | 40% |
แคลเซียมซิเตรต (Calcium citrate) | 21% |
แคลเซียมแลคเตต (Calcium lactate) | 13% |
แคลเซียมกลูโคเนต (Calcium gluconate) | 9% |
อย่างไรก็ตามการรับประทานแคลเซียมเสริม นอกจากในเรื่องของปริมาณแคลเซียมต่อเม็ดแล้ว ยังต้องมีการคำนึงถึงปริมาณแคลเซียมต่อมื้อการรับประทานร่วมด้วย เนื่องจากร่างกายของมนุษย์จะสามารถดูดซึมแคลเซียมได้ดีเมื่อปริมาณแคลเซียมที่ได้รับไม่เกิน 500 มิลลิกรัมต่อมื้อ การรับประทานแคลเซียมเสริมจึงควรทานครั้งละไม่มาก แต่แบ่งทานให้ได้ปริมาณรวมที่เหมาะสมต่อวันสำหรับแต่ละบุคคล นอกจากนั้นการดูดซึมของแคลเซียมยังสามารถเพิ่มขึ้นได้กรณีรับประทานร่วมกับวิตามินดี (vitamin D)
อาการข้างเคียงของแคลเซียม และข้อควรระวัง
การได้รับแคลเซียมผ่านทางอาหารในแต่ละวันมักไม่มีอาการข้างเคียงใดเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามสำหรับในบางบุคคล การได้รับแคลเซียมในปริมาณสูง ทั้งจากอาหาร อาหารเสริม หรือยาอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงทางระบบทางเดินอาหารได้ เช่น แน่นท้อง มีลมในกระเพาะ ท้องผูก โดยอาจมีอาการเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเกิดพร้อมกันหลายอาการได้
ทั้งนี้การรับประทานแคลเซียมอาจต้องระมัดระวังในการทานร่วมกับยาบางชนิด เนื่องจากอาจทำให้เกิดอันตรกิริยาระหว่างยาและแคลเซียมได้ เช่น ยาฆ่าเชื้อบางกลุ่มและแคลเซียมอาจเกิดการจับกันภายในทางเดินอาหาร ทำให้การดูดซึมของยาและแคลเซียมลดลง ประสิทธิภาพต่าง ๆ จึงลดลงตาม
เรียบเรียงโดย ภก.อินทัช เหล่าบัณฑิต
References
- National Institutes of Health, Office of Dietary Supplements. Calcium, Fact Sheet for Health Professionals. Available at: https://ods.od.nih.gov/factsheets/Calcium-Health
Professional/#:~:text=Absorption%20from%20supplements%20is%20highest,1%2C000%20mg%20dose%20%5B16%5D. Accessed March 9, 2022. - Institute of Medicine (US) Committee to Review Dietary Reference Intakes for Vitamin D and Calcium; Ross AC, Taylor CL, Yaktine AL, et al., editors. Washington (DC): National Academies Press (US); 2011.
- National Institutes of Health, Office of Dietary Supplements. Calcium, Fact Sheet for Comsumers. Available at: https://ods.od.nih.gov/factsheets/Calcium-Consumer/. Accessed March 9, 2022.
- สำนักพัฒนาวิชาการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคกระดูกพรุน พ.ศ. 2553. กรุงเทพ: มูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย.
- UpToDate. Lexicomp® Drug Interactions. Available at: https://www.uptodate.com/drug-interactions/?source=responsive_home#di-druglist. Accessed March 13, 2022.