ประโยชน์ของไบโอติน
วิตามินบี (vitamin B) เป็นหนึ่งในวิตามินชนิดละลายน้ำที่มีความสำคัญต่อร่างกาย โดยมีส่วนสำคัญต่อการทำงานของร่างกายในหลายด้าน เช่น บำรุงปลายประสาทและมีส่วนช่วยในการสร้างสารสื่อประสาทต่าง ๆ, บำรุงผิว ผม เล็บ, ช่วยสร้างพลังงานของร่างกาย, มีส่วนช่วยในการเจริญเติบโต โดยวิตามินบีสามารถแบ่งออกได้เป็นชนิดย่อย ๆ หลายชนิด อาทิ วิตามินบี 1 หรือไธอามีน (thiamine), วิตามินบี 2 หรือไรโบฟลาวิน (riboflavin) ไปจนถึงวิตามินบี 12 หรือโคบาลามิน (cobalamin)
ไบโอติน หรือวิตามินบี 7 เป็นหนึ่งในชนิดย่อยของวิตามินบี มีคุณสมบัติในการช่วยเร่งปฏิกิริยาหลายชนิดในร่างกาย เช่น กระบวนการเผาผลาญไขมันในร่างกาย การสร้างกรดไขมัน และการนำไขมันสะสมในร่างกายมาใช้ประโยชน์, การสร้างสารพันธุกรรม ดีเอ็นเอ (DNA) และอาร์เอ็นเอ (RNA) นอกจากนั้นไบโอตินยังมีส่วนสำคัญในกระบวนการสร้างและเจริญของเซลล์ร่างกาย ดังนั้น ในบริเวณของร่างกายที่มีการสร้างเซลล์ใหม่อยู่ตลอดเวลา เช่น ผิว ผม และเล็บ จึงได้รับประโยชน์จากกระบวนการทำงานของไบโอตินได้ค่อนข้างมาก ไบโอตินจึงมีอีกชื่อเรียกอีกประการว่าวิตามินเอช (vitamin H) ซึ่งมาจากคำว่า hair ที่แปลว่าเส้นผมนั่นเอง
ภาวะการขาดไบโอติน
โดยทั่วไปแล้วร่างกายมนุษย์จะสามารถได้รับไบโอตินจากสองส่วนเป็นหลัก คือการได้รับผ่านทางการรับประทานอาหาร และการสร้างไบโอตินโดยเชื้อจุลินทรีย์ประจำถิ่นในทางเดินอาหาร โดยร่างกายมนุษย์ต้องการไบโอตินต่อวันในปริมาณเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และในปัจจุบันยังไม่พบรายงานภาวะการขาดไบโอตินในประเทศไทยแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตามการเกิดภาวะการขาดซึ่งไบโอตินสามารถเกิดขึ้นได้ในบุคคลบางกลุ่ม เช่น ผู้ป่วยที่ได้รับยาฆ่าเชื้อบางชนิดติดต่อกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง อาจส่งผลให้เชื้อจุลินทรีย์ที่มีส่วนช่วยในการสร้างไบโอตินของร่างกายถูกทำลายไปเป็นจำนวนมาก, ผู้ที่รับประทานยากันชักบางชนิดซึ่งอาจส่งผลให้การสลายไบโอตินสูงขึ้น, ผู้ที่มีทำการผ่าตัดกระเพาะอาหาร มีภาวะการหลั่งกรดในทางเดินอาหารผิดปกติ หรือแม้กระทั่งผู้ที่นิยมรับประทานอาหารบางประเภท เช่น ไข่ดิบ ซึ่งสามารถทำให้ไบโอตินในอาหารถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ลดลง ในระยะยาวเองก็อาจส่งผลให้เกิดภาวะการขาดไบโอตินได้เช่นกัน
อาการของผู้ที่ขาดไบโอตินมักค่อย ๆ เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ โดยมักพบว่ามีผมบางลง อาจมีผมและขนร่วงทั่วร่างกาย ในด้านผิวหนังอาจพบผิวแห้งเป็นเกล็ด หรือมีผื่นแดงเกิดขึ้นตามผิวหนัง ในบางรายอาจพบว่ามีตาแดง, ชัก, การติดเชื้อตามผิวหนัง, เล็บเปราะ, อาจพบอาการทางระบบประสาท เช่น ซึมเศร้า เฉื่อยชา หรือเห็นภาพหลอน, เกิดความผิดปกติของการเผาผลาญไขมันในร่างกาย, คลื่นไส้ อาเจียน,นอกจากนั้นการขาดไบโอตินในทารกอาจทำให้เกิดการเจริญเติบโตของร่างกายช้าลงได้
ปริมาณไบโอตินที่ควรได้รับ และการรับประทานไบโอตินเสริม
ในปัจจุบันแล้วกระทรวงสาธารณสุขยังไม่มีการระบุขนาดที่ควรได้รับต่อวันของไบโอตินไว้อย่างชัดเจน คำแนะนำในการรับประทานไบโอตินในแต่ละวันจึงใช้การอ้างอิงจากปริมาณสารอาหารที่ควรได้รับในแต่ละวันของประเทศสหรัฐอเมริกาแทน โดยแสดงดังตาราง
อายุ | ปริมาณที่ควรได้รับ (ไมโครกรัม) | |||
เพศชาย | เพศหญิง | ตั้งครรภ์ | ให้นมบุตร | |
แรกเกิด – 6 เดือน | 5 | 5 | ||
7-12 เดือน | 6 | 6 | ||
1-3 ปี | 8 | 8 | ||
4-8 ปี | 12 | 12 | ||
9-13 ปี | 20 | 20 | ||
14-18 ปี | 25 | 25 | 30 | 30 |
19 ปีขึ้นไป | 30 | 30 | 35 | 35 |
ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่าหนึ่งในแหล่งของการได้รับไบโอตินในมนุษย์มาจากการรับประทานอาหาร โดยอาหารหลายชนิดมีไบโอตินเป็นส่วนประกอบอยู่ ทั้งนี้อาหารที่พบว่ามีปริมาณไบโอตินค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับอาหารชนิดอื่น ๆ คือ เนื้อและเครื่องในสัตว์, นมวัว, ไข่ไก่, ปลา, เมล็ดพืช, ถั่วต่าง ๆ, และผักบางชนิด เช่น มันหวานและบร็อคโคลี
ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าการรับประทานไบโอตินเสริมเป็นเรื่องที่จำเป็นมากนัก ไบโอตินในท้องตลาดมักพบได้ในรูปของผลิตภัณฑ์วิตามินบีรวม (vitamin B complex) หรือผลิตภัณฑ์ไบโอตินเดี่ยวก็ได้ การเลือกรับประทานไบโอตินเสริมในชนิดในชนิดหนึ่งควรพิจารณาถึงความต้องการของตน และสภาวะร่างกายอย่างเหมาะสม
โทษจากการได้รับไบโอตินมากเกินไป
การศึกษาในปัจจุบันยังไม่พบว่าการรับประทานไบโอตินในปริมาณมากจะก่อให้เกิดพิษจากไบโอตินได้ โดยการศึกษาหลายชิ้นยังไม่พบอาการผิดปกติจากการรับประทานไบโอตินในขนาด 10-50 มิลลิกรัมต่อวัน ไปจนถึง 200 มิลลิกรัมต่อวันอีกด้วย
เรียบเรียงโดย ภก.อินทัช เหล่าบัณฑิต
References
- The National Health Service. B vitamins and folic acid. Available at: https://www.nhs.uk/
conditions/vitamins-and-minerals/vitamin-b/. Accessed Mar 24, 2022. - MedlinePlus. B Vitamins. Available at: https://medlineplus.gov/bvitamins.html. Accessed Mar 25, 2022.
- The National Institutes of Health. Biotin Fact Sheet for Health Professionals. Available at: https://ods.od.nih.gov/factsheets/Biotin-HealthProfessional/. Accessed Mar 25, 2022.
- คณะกรรมการและคณะทำงานปรับปรุงข้อกำหนดสารอาการที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ. 2563. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ.วี. โปรเกรสซีฟ; 2563. 231-7.