Lecithin คืออะไร
เลซิตินคือสารประกอบของกรดไขมันหลายชนิด ที่มีความจำเป็นต่อการทำงานของทุกระบบในร่างกาย โดยเฉพาะสมองกับระบบประสาทที่เป็นศูนย์สั่งการและคอยควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย
เมื่อร่างกายได้รับเลซิตินเข้าไปจะเปลี่ยนเลซิตินเป็นสารที่ชื่อ “โคลีน” และสารโคลีนจะถูกสังเคราะห์โดยเซลล์ประสาทเป็นสารชื่อว่า “อะซิติลโคลีน” สารตัวนี้จะเข้าไปหล่อเลี้ยงเซลล์ประสาทช่วยในการส่งข้อมูลระหว่างเซลล์สมองแต่ละเซลล์และระหว่างสมองกับการสั่งงานไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ช่วยทำหน้าที่ในการถ่ายทอดข้อมูลและความรู้สึกเพื่อให้แสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ได้ตามความต้องการของสมอง ซึ่งเกี่ยวพันกับการดำรงชีวิตในทุก ๆ วัน นอกจากประโยชน์ของเลซิตินในแง่เพิ่มการทำงานของระบบประสาทแล้ว เลซิตินยังมีประโยชน์ในแง่ของการลดระดับคอลเลสเตอรอล กระตุ้นภูมิคุ้มกัน และกระตุ้นระบบย่อยอาหารอีกด้วย
ประโยชน์ของเลซิติน
ลดระดับคอลเลสเตอรอล
จากการศึกษาการรับประทานเลซิตินจากถั่วเหลืองในขนาดสูง พบว่าสามารถช่วยลดระดับของคอลเลสเตอรอล และเพิ่มไขมันดีให้แก่ร่างกายได้ การรับประทานเลซิตินจึงสามารถช่วยปรับสมดุลของไขมันตัวดีและไขมันตัวเลวช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและไขมันในเลือดสูงได้
กระตุ้นภูมิคุ้มกัน
การทดลองให้หนูรับประทานเลซิตินทุกวัน พบว่าเพิ่มการทำงานของเม็ดเลือดขาว macrophage ซึ่งคือเม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่ดักกินสิ่งแปลกปลอมและเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย แต่การศึกษานี้ยังต้องรอการทดลองในมนุษย์เพื่อยืนยันผลต่อไป
ระบบย่อยอาหารทำงานดีขึ้น
จากการศึกษาในผู้ป่วยโรค inflammatory bowel disease (IBD) หรือโรคลำไส้แปรปรวน พบว่าเลซิตินช่วยบรรเทาอาการของโรคได้ เนื่องจากเลซิตินช่วยเพิ่มเมือกและสารหล่อลื่นในลำไส้จึงช่วยปกป้องทางเดินอาหาร การรับประทานเลซิตินจึงสามารถช่วยทำให้ทางเดินอาหารทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและบรรเทาอาการผู้ป่วยลำไส้แปรปรวนได้
กระตุ้นการทำงานของสมอง
เลซิตินสามารถถูกเปลี่ยนเป็นสารสำคัญของสมองที่ชื่อว่า โคลีน ซึ่งเป็นสารสำคัญต่อการกระตุ้นการทำงานของสมองและกระตุ้นความสามารถในการจดจำ จากการศึกษาในหนูแรกเกิด เมื่อได้รับโคลีนพบว่าความสามารถในการจดจำของหนูดีกว่าหนูกลุ่มที่ไม่ได้รับโคลีน แต่ยังต้องรอการศึกษาในมนุษย์เพิ่มเติมเพื่อยืนยันผลของเลซิตินในการกระตุ้นการทำงานของสมองต่อไป เลซิตินอาจเป็นความหวังใหม่ให้แก่ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ผู้ป่วยสมองเสื่อมและผู้ป่วยโรคทางระบบประสาทอื่นๆ ได้ในอนาคต
ปริมาณเลซิตินที่ร่างกายควรได้รับ
ควรรับประทานวันละ 1,200 – 2,400 กรัม ไม่เกินวันละ 5,000 มิลลิกรัม
อาหารที่พบเลซิติน
เลซิตินสามารถพบได้ในอาหารหลากหลายชนิด เช่น ไข่ อาหารทะเล เครื่องในสัตว์ ผักหรือถั่วที่ปรุงสุก ถั่วเหลือง ถั่วขาว ถั่วดำ
เรียบเรียงโดย ภญ.พิชญานันท์ ตันติมงคลสกุล
Reference
1 อยากบำรุงสมองต้องลองเลซิติน. Bangkok Hospital. (n.d.). Retrieved March 11, 2022, from https://www.bangkokhospital.com/content/maintain-brain-with-lecithin
2 MediLexicon International. (n.d.). Lecithin: Benefits, risks, and types. Medical News Today. Retrieved March 11, 2022, from https://www.medicalnewstoday.com/articles/319260
3 Mourad, A. M., de Carvalho Pincinato, E., Mazzola, P. G., Sabha, M., & Moriel, P. (2009, December 28). Influence of Soy Lecithin administration on hypercholesterolemia. Cholesterol. Retrieved March 11, 2022, from https://www.hindawi.com/journals/cholesterol/2010/824813/
4 Miranda, D. T. S. Z., Batista, V. G., Grando, F. C. C., Paula, F. M., Felício, C. A., Rubbo, G. F. S., Fernandes, L. C., Curi, R., & Nishiyama, A. (2008, December). Soy lecithin supplementation alters macrophage phagocytosis and lymphocyte response to Concanavalin A: A study in alloxan-induced diabetic rats. Cell biochemistry and function. Retrieved March 11, 2022, from https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/18846580
5 Stremmel, W., Hanemann, A., Ehehalt, R., Karner, M., & Braun, A. (2010). Phosphatidylcholine (lecithin) and the mucus layer: Evidence of therapeutic efficacy in ulcerative colitis? Digestive diseases (Basel, Switzerland). Retrieved March 11, 2022, from https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/20926877
6 Zeisel, S. H. (2004, December). Nutritional importance of choline for brain development. Journal of the American College of Nutrition. Retrieved March 11, 2022, from https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/15640516