น้ำมันปลา (Fish oil)
น้ำมันปลา หรือ fish oil คือน้ำมันที่ถูกสกัดออกมาจากส่วนต่าง ๆ ของปลาทะเล เช่น หัวปลา หนังปลา เนื้อปลา และหางปลา โดยมากปลาที่ถูกนำมาใช้สกัดจะเป็นปลาทะเลน้ำลึกในเขตน้ำเย็น เนื่องจากปลาในเขตดังกล่าวจะมีปริมาณสารสำคัญที่มีประโยชน์ที่ค่อนข้างสูงกว่าปลาน้ำจืด
ในน้ำมันปลาประกอบไปด้วยกรดไขมันหลากหลายชนิด ในจำนวนนั้นชนิดที่มีอยู่มากและมีความสำคัญคือ ดีเอชเอ (docosahexanoic acid/DHA) และ อีพีเอ (eicosahexanoic acid/EPA) ซึ่งเป็นกรดไขมันสายยาวชนิดไม่อิ่มตัวและจัดอยู่ในกลุ่มโอเมก้า 3 (omega-3) ซึ่งเป็นกรดไขมันจำเป็นที่ร่างกายมนุษย์ไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้
น้ำมันปลาเหมือนกับน้ำมันตับปลาหรือไม่?
ในขณะที่น้ำมันปลาถูกสกัดมาจากหลายส่วนของปลาทะเลและอุดมไปด้วยกรดไขมันที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย น้ำมันตับปลานั้นจะถูกสกัดออกมาจากตับของปลาทะเล ซึ่งเป็นอวัยวะที่มีทั้งกรดไขมันแบบเดียวกับน้ำมันปลา และยังมีการสะสมของวิตามินเอ (vitamin A) และวิตามินดี (vitamin D) อยู่ในปริมาณสูงอีกด้วย
ประโยชน์ของน้ำมันปลา
งานวิจัยทางด้านสุขภาพจำนวนมากในปัจจุบันได้แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของสารสำคัญในน้ำมันปลาต่อร่างกายนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายประการ โดยตัวอย่างของประโยชน์ที่มีความสำคัญและมีข้อมูลยืนยันมีดังนี้
ส่งผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด
ในปัจจุบันมีงานวิจัยจำนวนมากที่แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของน้ำมันปลาต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ทั้งในแง่ของการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคในระบบดังกล่าวในอนาคต, การเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคหลอดเลือดหัวใจ, ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน และอัตราการเสียชีวิตโดยรวม
ผลระดับความดันโลหิต
นอกจากผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดแล้ว กรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวในน้ำมันปลายังส่งผลช่วยในการลดความดันโลหิตในผู้ที่รับประทานได้อีกด้วย โดยผลต่อความดันโลหิตดังกล่าวจะเห็นได้ชัดเจนในผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง มีโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เกิดจากหลอดเลือดแดงแข็ง หรือในผู้ที่มีระดับคลอเรสเตอรอลในเลือดสูงอยู่เดิม
ลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือด
DHA และ EPA ซึ่งเป็นสารสำคัญในน้ำมันปลาสามารถลดระดับไขมันและไตรกลีเซอไรด์ในเลือดได้ โดยแนวทางการรักษาและดูแลผู้ป่วยที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์สูงถึงสูงมากในปัจจุบันระบุว่าการรับประทาน DHA และ EPA ในปริมาณที่เหมาะสมจะสามารถลดระดับของไตรกลีเซอไรด์ได้ถึง 30%
ลดอาการจากภาวะข้อเสื่อมและรูมาตอยด์
กรดไขมันจำเป็นกลุ่มโอเมก้า 3 ในน้ำมันปลาสามารถลดการสร้างสารก่อการอักเสบได้ จึงส่งผลให้อาการอักเสบต่าง ๆ ของข้อ เช่น ปวด บวม แดง ลดลงได้
ปริมาณโอเมก้า 3 ที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์น้ำมันปลาหรืออาหารเสริมอื่น ๆ ซึ่งมีสารสำคัญเป็นโอเมก้า 3 ในท้องตลาดมีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งแต่ละผลิตภัณฑ์เองก็มีปริมาณของกรดไขมันโอเมก้า 3 แตกต่างกันออกไป การพิจารณาถึงปริมาณการรับประทานจึงจะต้องอิงจากปริมาณสารในแต่ละผลิตภัณฑ์ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามหากพิจารณาเพียงความต้องการของร่างกายต่อวันของ DHA และ EPA แบ่งตามอายุ และการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร จะเป็นดังแสดงในตาราง
อายุ | ปริมาณ DHA+EPA ที่ควรได้รับต่อวัน |
6 เดือน – 2 ปี | 100 มิลลิกรัม |
2 ปี – 18 ปี | 250 มิลลิกรัม |
ตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป | 250-500 มิลลิกรัม |
ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ | ควรได้รับ DHA เพิ่มอีก 100-200 มิลลิกรัมต่อวัน |
ผู้ที่กำลังให้นมบุตร | ควรได้รับ DHA เพิ่มอีก 100-200 มิลลิกรัมต่อวัน |
อย่างไรก็ตามปริมาณของโอเมก้า 3 ที่ควรได้รับเองก็ขึ้นอยู่กับประโยชน์ที่ต้องการจากการรับประทานน้ำมันปลาด้วยเช่นกัน เช่นการรับประทานเพื่อหวังผลในเรื่องของการลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด รวมไปถึงผลดีต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด จำเป็นจะต้องรับประทานให้ได้ปริมาณของ EPA และ DHA รวมกันสูงถึง 2-4 g ต่อวัน
การขาดโอเมก้า 3 (Omega-3 Deficiency)
สำหรับผู้ที่มีภาวะการขาดโอเมก้า 3 อาจพบอาการผิวหนังสากหรือผิวหนังอักเสบได้ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยังไม่ได้มีเกณฑ์การวินิจฉัยที่แน่ชัดว่าปริมาณโอเมก้า 3 ในร่างกายเท่าใดจึงจะจัดว่าไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
ภาวะการขาดโอเมก้า 3 พบได้ค่อนข้างน้อยและยากต่อการวินิจฉัยอย่างชัดเจน เนื่องจากในสภาวะที่ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอหรืออยู่ระหว่างการควบคุมการรับประทานอาหาร
บางประเภท จะมีการปลดปล่อยเอากรดไขมันจำเป็นที่สะสมไว้ในร่างกายออกมาใช้งาน จึงมักไม่เห็นอาการหรืออาการแสดงของการขาดโอเมก้า 3 ความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะการขาดโอเมก้า 3 จึงมักพบได้ในผู้ป่วยที่ได้รับสารอาหารทางหลอดเลือดหรือสายยางโดยไม่ได้มีการเสริมกรดไขมันจำเป็นอย่างเพียงพอ
อาการข้างเคียงและข้อควรระวัง
อย่างที่ทราบกันดีว่าไม่ว่าจะเป็นยาหรืออาหารเสริมที่ดีและมีประโยชน์เพียงใด หากรับประทานอย่างไม่เหมาะสมหรือไม่ถูกต้องก็อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายในแง่ต่าง ๆ ได้เช่นกัน
โดยมากการรับประทานน้ำมันปลามักไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงใด ๆ แต่สำหรับบางรายอาจเกิดอาการข้างเคียงเล็กน้อยหลังการรับประทาน ได้แก่ อาการคลื่นไส้ ท้องเสีย แสบร้อนกลางอก และลมหายใจมีกลิ่นคาวปลา
นอกจากนี้เนื่องจากน้ำมันปลามีฤทธิ์ในการต้านการแข็งตัวของเลือด จึงอาจส่งผลให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่ายขึ้น จึงควรมีการปรึกษาบุคลากรทางสุขภาพก่อนเสมอในกรณีที่มีการใช้ยาหรือการรักษาอื่น ๆ อยู่ รวมถึงแจ้งแพทย์หรือบุคลากรสาธารณสุขเสมอเมื่อเข้ารับบริการทางสุขภาพว่ามีการรับประทานน้ำมันปลาอยู่ โดยเฉพาะเมื่อต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือทำหัตถการใด ๆ ที่อาจทำให้เกิดเลือดออกได้ ทั้งนี้สำหรับผู้ที่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดควรหยุดรับประทานน้ำมันปลาก่อนถึงวันผ่าตัดอย่างน้อย 14 วัน
เรียบเรียงโดย : ภก.อินทัช เหล่าบัณฑิต
References
- National Institutes of Health, Office of Dietary Supplements. Omega-3 Fatty Acids Fact Sheet for Consumers. Available at: https://ods.od.nih.gov/factsheets/Omega3FattyAcids-Consumer/. Accessed March 1, 2022.
- นลินี จงวิริยะพันธุ์. ประโยชน์ของน้ำมันตับปลา. Available at: https://www.rama.mahidol.ac.
th/atrama/issue011/healthy-eating. Accessed March 3, 2022. - Kar S, Webel R. Fish Oil Supplementation & Coronary Artery Disease: Does It Help?. Mo Med. 2012 Mar-Apr; 109(2): 142–145.
- Morris M C, Sacks F, Rosner B. Does fish oil lower blood pressure? A meta-analysis of controlled trials. Circulation. 1993 Aug;88(2):523-33. doi: 10.1161/01.cir.88.2.523.
- Skulas-Ray AC, Wilson P WF, Harris WS, Brinton EA, Kris-Etherton PM, Richter CK, et al. Omega-3 Fatty Acids for the Management of Hypertriglyceridemia: A Science Advisory from the American Heart Association. Circulation. 2019;140: e673–e691.
- Ifigenia KA, Lambros A, Panagiotis A. The Effect of Omega-3 Fatty Acids on Rheumatoid Arthritis. Mediterr J Rheumatol. 2020 Jun; 31(2): 190–194.
- Akbar U, Yang M, Kurian D, Mohan C. Omega-3 Fatty Acids in Rheumatic Diseases: A Critical Review. J Clin Rheumatol. 2017 Sep;23(6):330-339.
- Forsyth S, Gautier S, Salem Jr N. Global Estimates of Dietary Intake of Docosahexaenoic Acid and Arachidonic Acid in Developing and Developed Countries. Ann Nutr Metab. 2016;68(4):258-67.
- National Institutes of Health, Office of Dietary Supplements. Omega-3 Fatty Acids Fact Sheet for Health Professionals. Available at: https://ods.od.nih.gov/factsheets/Omega3
FattyAcids-HealthProfessional/. Accessed March 1, 2022.