แร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายคืออะไร
แร่ธาตุ คือสารประกอบอนินทรีย์ที่อยู่ในร่างกายในปริมาณที่น้อยมากๆ แต่ขาดไม่ได้ บางชนิดมีส่วนช่วยในการทำงานของร่างกาย รักษาสมดุลความเป็นกรด-ด่าง ร่วมไปถึงช่วยในการทำงานของระบบประสาทและสมอง แม้จะต้องการในปริมาณที่น้อย แต่หากขาดแร่ธาตุสำคัญบางตัวไปอาจส่งผลร้ายต่อร่างกายได้
แร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ แร่ธาตุที่ร่างกายจำเป็นต้องได้รับในปริมาณมาก (100 มิลลิกรัมขึ้นไป) ได้แก่ แคลเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม กำมะถัน โซเดียม คลอรีน แมกนีเซียม และ แร่ธาตุที่ร่างกายจำเป็นต้องได้รับในปริมาณน้อยในแต่ละวัน คือ เพียงไม่กี่มิลลิกรัม ได้แก่ เหล็ก สังกะสี ซีลีเนียม แมงกานีส ทองแดง ไอโอดีน โมลิบดีนัม โคบอลต์ ฟลูออรีน
ประโยชน์ของแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายและแหล่งที่มา
แคลเซียม เป็นส่วนประกอบของกระดูกและฟัน ช่วยในการแข็งตัวของเลือดและการทำงานของกล้ามเนื้อ ถ้าขาดแคลเซียมอาจส่งผลให้เกิดโรคกระดูกอ่อน สตรีมีครรภ์อาจส่งผลให้ฟันผุได้ หากขาดมากอาจทำให้เกิดอาการชักเกร็งได้ อาหารที่พบแคลเซียมสูง ได้แก่ นมสด ไข่ งาดำ ปลาเล็กปลาน้อย คะน้า ตำลึง
ฟอสฟอรัส เป็นส่วนประกอบของกระดูกและฟัน ช่วยในการแข็งตัวของเลือดและการทำงานของกล้ามเนื้อ ทำให้การเต้นของหัวใจและเกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดกระแสประสาท ผลของการขาดฟอสฟอรัส คือ เบื่ออาหาร ซึม กล้ามเนื้อทำงานช้าลง อาหารที่พบฟอสฟอรัส ได้แก่ เนื้อสัตว์ นม ไข่ กล้วย ผักใบเขียว ถั่ว งา ข้าว เห็ด
โซเดียม ทำหน้าที่ควบคุมสมดุลความดันของของเหลวระหว่างภายในและภายนอกเซลล์ รักษาสมดุลความเป็นกรด-ด่างของร่างกาย หากขาดโซเดียมอาจทำให้เป็นตะคริวได้ ความดันโลหิตต่ำและกล้ามเนื้อชักกระตุก แหล่งที่มาของโซเดียม คือ เกลือแกง น้ำปลา ซีอิ๊ว อาหารหมักดอง ปู ทะเล หอยแครง ไข่ นม เนยแข็ง
คลอรีน เป็นส่วนประกอบของกรดเกลือช่วยในการย่อยอาหารในกระเพาะอาหาร รักษาสมดุลความเป็นกรด-ด่างของ ร่างกาย หากขาดคลอรีนมักเกิดอาการอาเจียน แหล่งที่มาของคลอรีน คือ เกลือแกง
กำมะถัน มีส่วนช่วยในการสร้างโปรตีนในร่างกาย หากขาดกำมะถัน อาจทำให้การเจริญของเส้นผมลดลง อาหารที่พบกำมะถัน ได้แก่ เนื้อสัตว์ นม ไข่
ฟลูอออรีน เป็นส่วนประกอบของสารเคลือบฟันทำให้ฟันแข็งแรงและช่วยให้กระดูกแข็งแรง หากขาดฟลูออรีน อาจทำให้ฟันผุง่าย อาหารที่พบฟลูออรีน ได้แก่ ชา อาหารทะเล
แมกนีเซียม เป็นส่วนประกอบของกระดูกและเลือด ช่วยควบคุมการทำงานของระบบประสาทและการหดตัวของกล้ามเนื้อและการสร้างโปรตีน หากขาดแมกนีเซียม อาจส่งผลให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อชักกระตุกอาจถึงตายได้ อาหารที่มีแมกนีเซียมได้แก่ เนื้อวัว นม ถั่ว เยื่อหุ้มเมล็ดพืช ผักสีเขียว อาหารทะเล งา เครื่องในสัตว์
เหล็ก เป็นส่วนประกอบของเฮโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง หากขาดเหล็กอาจทำให้เกิดโรคโลหิตจาง อ่อนเพลีย อาหารที่มีเหล็ก ได้แก่ เนื้อสัตว์ ตับ ไข่แดง ถั่วเหลือง มะเขือพวง ผักสีเขียว งาดำ เนื้อปลา
ไอโอดีน เป็นส่วนประกอบของฮอร์โมนไทรอกซินที่ต่อมไทรอยด์ ถ้าขาดในวัยเด็กทำให้เตี้ย แคระแกร็น สติปัญญาเสื่อม ถ้าขาดในวัยผู้ใหญ่เป็นโรคคอพอก อาหารที่มีไอโอดีน เกลืออนามัย เกลือสมุทร อาหารทะเล นม ไข่ ปลาทะเล
เรียบเรียงโดย ภญ.พิชญานันท์ ตันติมงคลสกุล
References
- ประสงค์ หลำสะอาด. 2541. แร่ธาตุสารในเซลล์สิ่งมีชีวิต. กรุงเทพมหานคร : พัฒนาศึกษา.
- Pauling, L. 2011. Mineral information. Retrieved December 5, 2010, from http://lpi.oregonstate.edu/infocenter/phytochemicals/carotenoids/procarotenoids.html.