ว่านชักมดลูก สมุนไพรเพื่อคุณสุภาพสตรี
ว่านชักมดลูกเป็นพืชสกุลขมิ้นชัน มีลำต้นเป็นหัวอยู่ใต้ดิน ว่านชักมดลูกมีหลายชนิด แต่ชนิดที่มีพบในประเทศไทยและนำมาใช้เป็นยาที่มีการวิจัยและตรวจสอบคุณภาพชัดเจนมีเพียง 2 ชนิด ได้แก่ ว่านชักมดลูกตัวเมีย (Curcuma comosa) และว่านชักมดลูกตัวผู้ (Curcuma latifolia)
ว่านชักมดลูกทั้งสองชนิดเป็นพืชคนละต้นกัน แต่มีลักษณคล้ายคลึงกัน โดยว่านชักมดลูกตัวเมีย หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “ว่านตัวเมีย” มีลักษณะลำต้นเป็นหัวกลมรี แขนงสั้น ส่วนว่านชักมดลูกตัวผู้ หรือ “ว่านตัวผู้” หัวใต้ดินจะมีลักษณะกลมแป้นกว่า และมีแขนงยาวกว่าว่านตัวเมีย แต่ในท้องตลาดที่มีการนำต้นสดมาจำหน่ายอาจมีการหักของแขงหรือตัดแขนงให้สั้นลง ทำให้จำแนกได้ยาก ผู้ที่ไม่คุ้นเคยอาจเกิดความสับสนในการเลือกซื้อได้
สรรพคุณของว่านชักมดลูก
อย่างที่ทราบกันว่าว่านชักมดลูกเป็นสมุนไพรไทยที่มีการใช้มาตั้งแต่สมัยก่อนแล้ว และว่าน 2 สายพัธุ์นี้พบได้เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ว่านชักมดลูกที่พบในประเทศอื่นจะเป็นคนละสายพันธุ์กัน ซึ่งจะมีสารสำคัญและลักษณะบางอย่างที่แตกต่างจากว่านชักมดลูกที่เพาะปลูกในไทย ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาของเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์นักวิทยาศาสตร์ไทยจึงได้นำว่านชักมดลูกทั้ง 2 ชนิด (ว่านตัวเมีย และว่านตัวผู้) มาทำการทดสอบเพื่อหาสารสำคัญ และพิสูจน์สรรพคุณทางยา ผลการวิจัยพบว่าสารสำคัญในว่านตัวเมียมีการออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิง สารสำคัญดังกล่าว จัดเป็นสารกลุ่มไฟโตเอสโตรเจน ซึ่งหมายถึงสารที่ได้จากพืชแต่มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนหรือฮอร์โมนของเพศหญิง ส่วนว่านตัวผู้ไม่พบว่าผลการออกฤทธิ์แบบว่านตัวเมีย
พิจารณาประโยชน์ที่ได้จากสารสำคัญแต่ละชนิดที่พบได้ในว่านชักมดลูกแต่ละประเภทจะพบสรรพคุณ ดังต่อไปนี้
ว่านชักมดลูกตัวเมีย (Curcuma comosa)
1.มีฤทธิ์เหมือนฮอร์โมนเพศหญิง : ในงานวิจัยที่ทำการทดสอบสารสกัดจากว่านชักมดลูกพบว่าในว่านตัวเมียมีสารไฟโตเอสโตรเจนอยู่ จึงมีผลช่วยทดแทนฮอร์โมนที่ขาดไป เป็นผลให้ช่วยบรรเทาอาการวัยหมดประจำเดือน เช่น นอนไม่หลับ ร้อนวูบวาบ อารมณ์แปรปรวน เป็นต้น เนื่องจากผู้หญิงเมื่ออายุมากขึ้นจนถึงวัยหมดประจำเดือน หรือวัยทองร่างกายจะขาดฮอร์โมนเพศหญิงไปทำให้เกิดอาการวัยทองได้ นอกจากนี้ตามตำรายาไทยว่านตัวเมียยังมีสรรพคุณในการบำรุงสตรี ได้แก่ รักษามดลูกอักเสบ แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ
2.มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ : จากการสกัดว่านตัวเมียพบว่ามีสารที่มีคุณสมบัติในการยับยั้งสารที่ก่อกระบวนการอักเสบได้
ว่านชักมดลูกตัวผู้ (Curcuma latifolia) : ไม่มีสารไฟโตเอสโตรเจน แต่มีฤทธิ์ที่อาจพบได้ คือ ฤทธิ์ต้านการอักเสบ
ขนาดรับประทานและวิธีใช้
เนื่องจากยังไม่มีการวิจัยการนำสารสกัดสารใดสารหนึ่งของว่านชักมดลูกมาใช้ในการทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยในมนุษย์ ดังนั้นหากต้องการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารว่านชักมดลูกในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีขายในท้องตลาด ให้ใช้ในปริมาณที่ฉลากแนะนำ หรือปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์ก่อนใช้ และควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีการรับรองคุณภาพจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
ข้อควรระวังและข้อห้ามใช้
- ว่านชักมดลูกตัวเมีย มีผลต่อการทำงานของเอนไซม์ที่ใช้ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงยาอื่น ๆ ได้ ดังนั้นหากใช้ร่วมกับยาบาลชนิดอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาขิงสมุนไพรตีกันกับยาที่ทานได้
- ว่านชักมดลูกตัวผู้พบว่ามีความเป็นพิษต่อตับ ไต และม้าม
- ห้ามใช้ต่อต่อกันในระยะเวลายาว หรือรับประทานว่านชักมดลูกเกินขนาด
- ไม่ควรใช้สมุนไพรในผู้ป่วยที่มีปัญหาท่อน้ำดีอุดตัน
- ไม่แนะนำให้ใช้ในสตรีมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร
ดังนั้น การใช้ว่านชักมดลูกจึงจำเป็นต้องเลือกใช้ให้ถูกชนิดและใช้ในปริมาณที่เหมาะสม หากมีโรคประจำตัวหรือมียาที่ต้องทานเป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ว่านชักมดลูก
ผลข้างเคียง
- มีอาการตกขาวมากกว่าปกติ ซึ่งเป็นเรื่องที่พบได้บ่อยที่สุด
- วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ตัวร้อน มีอาการไอเหมือนจะเป็นไข้ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นได้สตรีที่ร่างไม่แข็งแรง และมีคำแนะนำว่าให้หยุดรับประทานสักพักจนกว่าอาการไข้จะหายไป แล้วให้รับประทานต่อในปริมาณที่ลดลงครึ่งหนึ่ง หรือสำหรับผู้ไม่ได้มีอาการไข้ให้เริ่มรับประทานในปริมาณน้อย ๆ ก่อน แล้วค่อยเพิ่มปริมาณในการรับประทานตามฉลากสมุนไพร
- ผื่นขึ้นบริเวณผิวหนังและตามลำตัว ซึ่งเป็นอาการที่พบได้น้อย
- มีอาการปวดหน้าอก ตึงหน้าอก หรือปวดมดลูก ช่องคลอด
- สำหรับสตรีวัยทองหรือวัยหมดประจำเดือน หลังจากรับประทานอาจจะมีประจำเดือนใหม่เกิดขึ้นได้ สามารถรับประทานต่อไปได้ ประจำเดือนก็จะค่อย ๆ หมดไปเอง
เรียบเรียงโดย ภญ.ปุณยวีร์ กิจชาญวิทย์
Reference
- พร้อมจิต ศรลัมพ์. ว่านชักมดลูก. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/92/%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A1%E0%B8%94%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81/.
- ระวิวรรณ แก้วอมตวงศ์. สารทุติยภูมิและฤทธิ์ทางชีวภาพของว่านชักมดลูกที่จาหน่ายในท้องตลาดของไทย. วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. 19 : 1-16 : เมษายน 2560.
- MedThai. 35 สรรพคุณและประโยชน์ของว่านชักมดลูก. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : https://medthai.com/%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A1%E0%B8%94%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81/.