ฟ้าทะลายโจร สมุนไพรไทย

ฟ้าทะลายโจรมีช่ือวิทยาศาสตร์ว่า Andrographis paniculata มีการใช้อย่างแพร่หลายในประเทศในแถบเอเชีย โดยเฉพาะในประเทศจีน อินเดีย เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และประเทศไทย สาระสำคัญของฟ้าทะลายโจรมีด้วยกันหลายชนิด แต่สารที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาและเป็นสารที่ใช้ในการกำหนดมาตรฐานของคุณภาพฟ้าทะลายโจรคือ สารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ซึ่งตามข้อกำหนดต้องมีสารแอนโดนกราโฟไลด์ในปริมาณไม่น้อยกว่า 1% (W/W) ฟ้าทะลายมีสรรพคุณหลากหลาย เช่น ลดไข้ ต้านอักเสบ และกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย ต้านไวรัส บรรเทาอาการท้อเสีบแบบไม่ติดเชื้อ และสรรพคุณของฟ้าทะลายโจรที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2542 คือ บรรเทาอาการเจ็บคอบรรเทาอาการของโรคหวัด (common cold)

ในปัจจุบันนี้ซึ่งเป็นยุคที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า หรือทั่วไปเรียกกันว่า COVID-19 ได้มีการนำสารสกัดฟ้าทะลายโจรทั้งที่อยู่ในรูปแบบเม็ด และแคปซูล มาบริโภคเพื่อหวังผลในการป้องกันและรักษาการติดเชื้อ COVID-19 มีการวิจัยสารสกัดแอนโดรกราโฟไลด์พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งไวรัสชนิดต่าง ๆ มานาน กว่า 10 ปี หลังจากเกิดการระบาดของ COVID-19 พบว่าสารแอนโดรกราโฟไลด์มีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่ม จํานวนของไวรัสในเซลล์เนื้อเยื่อ แต่ไม่ยับยั้งการเข้าเซลล์ ในบทความนี้จะกล่าวถึงการใช้ฟ้าทะลายโจรกับการติดเชื้อ COVID-19 ที่เป็นประเด็นสำคัญต่อสุขภาพของผู้บริโภค

ฟ้าทะลายโจรมี 3 กลไกที่เกี่ยวข้องในการรักษาผู้ป่วย COVID-19 คือ

1. การยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส แต่ไม่มีฤทธิ์ป้องกันการเข้าเซลล์หรือกำจัดไวรัส

2. ลดการอักเสบ ซึ่งมีผลในการลดไข้ ลดอาการหวัด ไอ เจ็บคอ

3. กระตุ้นภูมิคุ้มกัน

ยาฟ้าทะลายโจร ป้องกัน  COVID-19 ได้หรือไม่

ยาฟ้าทะลายโจร ไม่สามารถป้องกันไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้ แต่สามารถช่วยบรรเทาอาการที่ไม่รุนแรง ใช้ในผู้ที่มีอาการไม่รุนแรง ช่วยลดโอกาสที่โรคจะลุกลามลงปอด ดังนั้นวิธีการป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 ที่ดีที่สุดในตอนนี้คือการได้รับวัคซีน และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

ยาฟ้าทะลายโจรสำหรับรักษาผู้ป่วย COVID-19

ผู้ป่วยที่สามารถใช้ฟ้าทะลายโจรในการรักษาการติดเชื้อ COVID-19 ควรเป็นไปตามเงื่อนไขนี้

  1. ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ไม่มีอาการ
  2. ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อ การเป็นโรครุนแรง ไม่มีโรคร่วมหรือโรคประจำตัวที่อาจทำให้เกิดอาการรุนแรง
  3. ผู้ป่วยโควิด-19 ทุกกรณีที่ยังต้องรอการรับเข้าโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษา
  4. ต้องไม่มีข้อห้ามต่อการใช้ฟ้าทะลายโจร
  5. กรณีของผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย และมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อสามารถรับประทานยาฟ้าทะลายโจรได้หากไม่มีข้อห้ามใช้

หากไม่ได้เป็นผู้ติดเชื้อ COVID-19 หรือมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยไม่แนะนำให้ทานเพื่อป้องกันเนื่องจากฟ้าทะลายโจรไม่สามารถป้องกันไวรัสเข้าสู้เซลล์ได้ จึงไม่มีฤทธิ์ในการป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 และไม่แนะนำให้ทานต่อเนื่องเป็นประจำทุกวัน เนื่องจากจะส่งผลเสียต่อสุขภาพได้

ขนาดยาฟ้าทะลายโจรที่ใช้ในการรักษาผู้ติดเชื้อ COVID-19

การใช้ยาฟ้าทะลายโจรมาใช้ในการรักษาสามารถชใช้ได้ทุกรูปแบบ ทั้งแบบยาสารสกัดฟ้าทะลายโจร และ ยาผงบดฟ้าทะลายโจร โดยแนะนำให้เลือกผลิตภัณฑ์ที่ระบุปริมาณสารแอนโดรการโฟไลด์ไว้ในฉลาก

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่ และเด็กหรือผู้ที่มีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 50 กิโลกรัม ให้ทานสารแอนโดกราโฟไลด์รวม 180 มิลลิกรัมต่อวัน โดยอาจแบ่งเป็น 3 มื้อ ก่อนอาหาร ทานติดต่อกัน 5 วัน (ไม่ควรทานต่อเนื่องเกิน 5 วัน) หรือในกรณีที่ฉลากข้างบรรจุภัณฑ์ระบุปริมาณที่ให้ทานไว้แล้วสามารถทานในปริมาณตามที่ฉลากระบุไว้ได้เลย และไม่ควรทานเกินกว่าที่ระบุไว้

กรณีที่ฉลากไม่ได้ระบุปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์เป็นมิลลิกรัมต่อแคปซูลหรือต่อเม็ด

  • ฉลากข้างกล่องหรือขวด ระบุปริมาณสารแอนโดรกาโฟไลด์ เป็นค่า “ไม่น้อยกว่า”

มีสารแอนโดกราโฟไลด์ ไม่น้อยกว่า 12 มิลลิกรัม/แคปซูล ทานครั้งละ 5 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง ไม่เกิน 5 วัน

  • ฉลากข้างกล่องหรือขวด ระบุปริมาณสารแอนโดรกาโฟไลด์ เป็น“%”

มีสารแอนโดกราโฟไลด์ ไม่น้อยกว่า 2% (สำหรับขนาด 400 มิลลิกรัม/แคปซูล) ให้คำนวณออกมาเป็นปริมาณสารแอนโดกราโฟไลด์ต่อแคปซูล จะเท่ากับ 8 มิลลิกรัม/แคปซูล ให้ทานครั้งละ 7 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันไม่เกิน 5 วัน

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ระบุปริมาณสารแอนโดกราโฟไลด์ไว้ ไม่แนะนำให้นำมาใช้ในการรักษา COVID-19 แต่ยังสามารถทานเพื่อลดไข้ แก้เจ็บคอ บรรเทาอาการหวัด หรือท้องเสียแบบไม่ติดเชื้อได้

ข้อห้ามและข้อควรระวัง

  • ผู้ป่วยเด็ก : เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลการศึกษาที่เพียงพอที่จะแนะนำการใช้ยาฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อ COVID-19 จึงไม่แนะนำให้ใช้ในเด็กเล็ก เด็กโตอาจพิจารณาใช้ในขนาดของสารแอนโดรกาโฟไลด์ 3-3.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน แบ่งให้วันละ 3-4 ครั้ง
  • ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ฟ้าทะลายโจร
  • ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร เนื่องจากอาจทำให้มีการบีบตัวของมดลูกเป็นผลให้เกิดการแท้ง คลอดก่อนกำหนด หรือทารกผิดปกติได้
  • ระวังการใช้ฟ้าทะลายโจรร่วมกับยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน โคลพิโดเกรล แอสไพริน เพราะอาจเสริมฤทธิ๋กัน ทำให้เกิดเลือดออกได้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาฟ้าทะลายโจร
  • ผู้ป่วยโรคตับ ไต โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคประจำตัวอื่น ๆ หรือผู้ป่วยที่ต้องทานยาเป็นประจำควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
  • ไม่ควรใช้ฟ้าทะลายโจรในขนาดสูงกว่าที่กำหนด และไม่ควนทานติดต่อกันเป็นเวลานานกว่าที่แนะนำเนื่องจากทำให้เกิดผลข้างเคียงได้

อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้

แม้ว่าฟ้าทะลายโจรจะเป็นสมุนไพรที่ค่อนข้างปลอดภัยแต่ก็อาจพบผลข้างเคียงได้เช่นกัน ผลข้างเตียงที่อาจพบได้ มีดังนี้

  • อาการทางระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน มวนท้อง ท้องเดิน
  • วิงเวียน ใจสั่น อ่อนเพลีย
  • อาการแพ้ยา ผื่น ลมพิษ หน้าบวม แนะนำให้หยุดยาและไปพบแพทย์
  • ผลต่อตับ จากาการค้นคว้าข้อมูลพบว่าการใช้ฟ้าทะลายโจรในขนาดสูงและใช้เป็นเวลานานเกินกว่าที่แนะนำ อาจทำให้มีการเพิ่มขึ้นของเอนไซม์ตับได้

เรียบเรียงโดยภญ.ปุณยวีร์ กิจชาญวิทย์

Reference:

  1. สยมพร ศิรินาวิน, กุลธนิต วนรัตน์, วราวุธ เสริมสิริ, วรสุดา ยูงทอง. ข้อควรรู้เกี่ยวกับการใช้ “สารแอนโดรกราโฟไลด์” ในผลิตภัณฑ์ “ฟ้าทะลายโจร” เพื่อ “การรักษาโควิด-19”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : https://today.line.me/th/v2/article/1jKrEz.
  2. พุทธินันท์ อรพินท์พิศุทธิ์, นวลกนก กุลมโนชญ์, อนวัช มิตรประทาน. การใช้สมุนไพรฟ้าทะลายโจรในการรักษา COVID-19. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : https://ccpe.pharmacycouncil.org/index.php?option=article_detail&subpage=article_detail&id=1065
  3. กุลธนิต วนรัตน. ยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรต่อผู้ป่วยโรคโควิด-19. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : https://www.tm.mahidol.ac.th/research/News&Events/2021_03_05/1751396_FTJvsCOVID-5MAR2021.pdf.
  4. อาสาฬา เชาวน์เจริญ, ผกากรอง ขวัญข้าว. ฟ้าทะลายโจรกับการระบาดของโควิด-19. สถานเสาวภา สภากาชาดไทย. 2564 : 1 – 8 : สิงหาคม 2564.
  5. ปริณดา แจ้งสุข. ส่อง “ฉลากยา” ใช้ฟ้าทะลายโจรต้านโควิด-19 อย่างปลอดภัย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : https://www.chula.ac.th/highlight/50239/.
  6. คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล. สรรพคุณ ฟ้าทะลายโจร. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : https://www.rama.mahidol.ac.th/altern_med/th/km/19jun2020-1729.
  7. อัมพร เบญจพลพิทักษ์, ขวัญชัย วิศิษฐานนท์, ธิติ แสวงธรรม, เทวัญ ธานีรัตน์, กุลธนิต วนรัตน์. รายงานสังเขปผลการใช้ยาฟ้าทะลายโจรในการรักษาผู้ป่วย COVID-19. วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก. 2564(1) : 229 – 231 : มกราคม-เมษายน 2564.