สมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพร

              โดยทั่วไปแล้วเมื่อกล่าวถึงสมุนไพร สิ่งที่คนทั่วไปนึกถึงคือพืชพรรณที่มีประโยชน์ต่อร่างกายในด้านต่าง ๆ ใช้เป็นยาสำหรับป้องกัน รักษาโรค หรือเสริมสุขภาพ เช่น ฟ้าทะลายโจร กระชาย ขมิ้นชัน อย่างไรก็ตาม  นิยามของสมุนไพรที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพรนั้นหมายรวมตั้งแต่พืช สัตว์ จุลชีพ หรือแม้กระทั่งแร่ที่ใช้เพื่อนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร

  โดยผลิตภัณฑ์สมุนไพรจะสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ชนิด คือ

  1. ยาจากสมุนไพร คือ ยาที่ผลิตจากสมุนไพร ยาแผนไทย ยาแผนโบราณหรือยาตามแนวทางแพทย์ต่างเลือกบางชนิด ซึ่งอาจจัดกลุ่มออกตามรูปแบบของยาและการใช้งานออกได้เป็น 4 กลุ่มย่อย คือ ของแข็ง ของเหลว กึ่งแข้งกึ่งเหลว และรูปแบบอื่น ๆ
  2. ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร ที่ใช้เพื่อให้สุขภาพหรือการทำงานของร่างกายดีขึ้น เสริมสร้างการทำงานของร่างกาย หรือลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคต่าง ๆ
  3. วัตถุที่ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพร
  4. วัตถุอื่นตามที่รัฐกำหนดให้เป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร

ประโยชน์ของสมุนไพรและการนำมาใช้งาน

สมุนไพรแต่ละชนิดล้วนมีความแตกต่างกันในแง่ของประโยชน์และคุณสมบัติด้านเภสัชวิทยา การเลือกใช้สมุนไพรให้เหมาะกับสภาวะอาการและโรคที่เป็นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ การเลือกใช้สมุนไพรและยาสมุนไพรที่เหมาะสมกับสภาวะของโรคและผู้ป่วยในบางครั้งอาจได้ผลดีกว่าหรือเทียบเท่าการใช้ยาแผนปัจจุบันก็เป็นได้ เช่นการบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนระหว่างตั้งครรภ์ด้วยขิง

ในปัจจุบันได้มีการวิจัยและทดลองนำสมุนไพรหลากหลายชนิดมาใช้เพื่อรักษาโรคหรือภาวะต่าง ๆ ในประเทศไทยสมุนไพรที่มีหลักฐานสนับสนุนว่าสามารถใช้ได้ผลจะถูกบรรจุอยู่ในรายการสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ หรือสมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐาน เช่น การใช้ขมิ้นชันบรรเทาอาการปวดท้องเนื่องจากแผลในกระเพาะ หรือการใช้วุ้นจากใบว่านหางจระเข้รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก

ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพร

              ในปัจจุบันยังมีคนจำนวนมากที่เชื่อว่า เมื่อสมุนไพรและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรต่าง ๆ ป็นสิ่งที่มาจากธรรมชาติก็ควรเป็นสิ่งที่มีความปลอดภัยและมีประโยชน์ต่อร่างกายเสมอ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ไม่ได้ถูกต้องเสียทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ยา หรือสมุนไพรเองต่างก็มีข้อดีข้อเสียของตัวเอง การใช้สมุนไพรในปริมาณที่ไม่เหมาะสม หรือใช้อย่างไม่ถูกต้องก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายแทนที่จะเป็นผลดีได้ อีกทั้งสมุนไพรบางชนิดเองก็อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรง อาการแพ้ หรือแม้กระทั่งเกิดอันตรกิริยากับยาอื่น ๆ ที่ทานอยู่ได้ จึงควรระมัดระวังในการใช้สมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรอยู่เสมอ

หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาบุคลากรทางสุขภาพที่มีความเชี่ยวชาญก่อนใช้สมุนไพรและยาสมุนไพร เพื่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยจากการใช้ยา


เรียบเรียงโดย ภก.อินทัช เหล่าบัณฑิต

Reference

  1. พระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562. (2562, เมษายน 26) ราชกิจจานุเบกษา, 136 (56ก), 121-64.
  2. ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี. สมุนไพร. Available at: https://www.rama.mahidol.ac.th/poisoncenter/th/pois-cov/Herbal. Accessed Feb 19, 2022.
  3. กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณะสุข. สมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐาน.
  4. Ezzatalsadat HSJ, Fatemeh S, Omid M. Comparing the Effectiveness of Vitamin B6 and Ginger in Treatment of Pregnancy-Induced Nausea and Vomiting. Obstet Gynecol Int. 2013;2013:927834. doi: 10.1155/2013/927834. Epub 2013 Oct 22.
  5. Densak P, Charinthip S, Athita C. A randomized comparison of ginger and dimenhydrinate in the treatment of nausea and vomiting in pregnancy. J Med Assoc Thai. 2007 Sep;90(9):1703-9.
  6. MedlinePlus. Herbal Medicine. Available at: https://medlineplus.gov/herbalmedicine.html. Accessed Feb 19, 2022.