วิตามินดี คืออะไร
เป็นวิตามินที่ละลายได้ในไขมัน สามารถพบได้ในอาหารบางชนิด เช่น ปลาที่มีไขมันสูง เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาทู ปลาซาร์ดีน เห็ด ไข่แดง นมที่มีการเติมวิตามินดี หรืออาหารเสริมมีวิตามินดี
ในธรรมชาติวิตามิน ดี มีหลายรูปแบบแต่รูปแบบที่จำเป็นต่อร่างกาย ได้แก่ วิตามินดี 2 (Ergocalciferol) พบได้เฉพาะในพืช และวิตามินดี 3 (Cholecalciferol) เป็นรูปแบบที่ร่างกายเราสังเคราะห์ได้เองจากผิวหนัง โดยอาศัยแสงแดดยามเช้าเป็นสิ่งกระตุ้นวิตามินดีหลายรูปแบบนี้ทั่วไปจะนิยมเรียกรวมกันว่า “วิตามินดี”
ความสำคัญของวิตามินดีต่อร่างกาย
หน้าที่หลักของวิตามิน ดี ได้แก่ ช่วยดูดซึมและรักษาสมดุลแคลเซียมและฟอสฟอรัสในเลือด เพื่อใช้ในกระบวนการ สร้างกระดูก ช่วยลดฮอร์โมนพาราไทรอยด์ (Parathyroid Hormone) ป้องกันการสูญเสียแคลเซียมจากกระดูก ป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุน
วิตามินดี มีโครงสร้างคล้ายฮอร์โมนเพศ ทำให้มีคุณสมบัติอีกมากมายที่คุณอาจไม่เคยรู้ เช่น เพิ่มการหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและป้องกันโรคเบาหวาน จากการศึกษาพบว่าคนที่ขาดวิตามินดีมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มากกว่าคนทั่วไป และการเสริมวิตามินดีช่วยให้ร่างกายเผาผลาญน้ำตาลได้ดีขึ้นอย่างมีนัยสําคัญ มีการศึกษาพบว่าการวิตามินดียังมี ความสัมพันธ์เกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูง และโรคหลอดเลือดหัวใจตีบอีกด้วย
นอกจากนั้นวิตามินดียังช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และ ช่วยให้สมองหลั่งสารเซโรโทนิน ช่วยลดความเครียด ภาวะซึมเศร้า ในด้านผิวพรรณวิตามินดีช่วยในการแบ่งเซลล์ และซ่อมแซมส่วนสึกหรอ ช่วยชะลอวัยของผิว
อาการขาดวิตามิน ดี
ภาวะขาดวิตามิน ดี (Vitamin D deficiency) คือภาวะที่วิตามินดีในเลือดมีระดับต่ำกว่า 20 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร (ng/mL) ในบางรายอาจมีอาการ ดังนี้
- ป่วยบ่อย อ่อนเพลีย อ่อนแรง
- มีอาการปวดกระดูก ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ
- อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
- แผลหายช้า
- ผมร่วงผิดปกติ
หากขาดวิตามินดีต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ อาจมีผลให้การทำงานของร่างกายผิดปกติหรือเกิดโรคได้ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคทางระบบภูมิคุ้มกัน โรคทางระบบประสาท เป็นต้น
- การได้รับวิตามินดีจากอาหารไม่เพียงพอ เช่น คนที่รับประทานมังสวิรัติและไม่รับประทานเนื้อปลา มีแนวโน้มได้รับวิตามินดีไม่เพียงพอในแต่ละวัน
- การได้รับแสงแดดไม่เพียงพอ การหลีกเลี่ยงแสงแดด รวมทั้งการใช้ผลิตภัณฑ์กันแดด ล้วนส่งผลให้การสังเคราะห์วิตามินดีจากผิวหนังลดลง
- การดูดซึมวิตามินดีผ่านทางเดินอาหารบกพร่อง จากโรคที่ส่งผลให้การดูดซึมวิตามินดีลดลง เช่น Celiac disease, Crohn’s disease เป็นต้น นอกจากนี้การผ่าตัดเพื่อลดขนาดกระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็ก ก็มีส่วนทำให้การดูดซึมวิตามินดีลดลงได้
- การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยากันชัก ยาขยายหลอดลม ยารักษาวัณโรคบางชนิด ส่งผลให้ร่างกาย เปลี่ยนวิตามินดีไปอยู่ในรูปแบบที่ไม่ออกฤทธิ์มากขึ้น
เมื่อขาดวิตามินดีแล้ว ควรทำอย่างไร?
- ทำกิจกรรมที่ได้รับแสงแดด อย่างน้อย 15 นาที จำนวน 2-4 ครั้ง/สัปดาห์ ช่วงเวลา 6.00 – 8.00 น. แสงแดดจะช่วยเปลี่ยนคอเลสเตอรอลในร่างกายไปเป็นวิตามินดี
- รับประทานอาหารที่ให้ปริมาณวิตามินดีสูง เช่น
- ปลาที่มีน้ำมันสูง เช่น ปลาซาร์ดีน ปลาเทราต์ ปลาทูน่า ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล
- น้ำมันตับปลา
- ไข่แดง
- นม เสริมวิตามินดี
- การรับประทานอาหารเสริมที่มี วิตามิน ดี เป็นสารสำคัญ
- ตรวจติดตามระดับวิตามินดีในเลือดกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ปริมาณวิตามินดีที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน
วิตามินดีมีอยู่หลายสูตรและมีสัดส่วนที่แตกต่างกันบางสูตรอาจมีการผสมส่วนประกอบ หรือวิตามินชนิดอื่นเสริมลงไป ปริมาณการรับประทานจะขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการรับประทาน ความรุนแรงของโรค ปัจจัยด้านสุขภาพ และดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา แพทย์อาจมีการตรวจระดับ วิตามินดีในเลือดเพื่อประเมินว่ามีภาวะขาดวิตามินดีหรือไม่ก่อนให้ยา
ปริมาณวิตามินดีที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน
- อายุ 0-12 เดือน ควรได้รับวิตามินดี วันละ 400 IU (10 ไมโครกรัม)
- อายุ 1-70 ปี ควรได้รับวิตามินดี วันละ 600 IU (15 ไมโครกรัม)
- อายุมากกว่า 70 ปี ควรได้รับวิตามินดี วันละ 800 IU (20 ไมโครกรัม)
- สตรีตั้งครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ควรได้รับวิตามินดี วันละ 600 IU (15 ไมโครกรัม)
อาการไม่พึงประสงค์จากการได้รับวิตามินดีมากเกินไป
เด็กอายุ 9 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ ไม่ควรได้รับวิตามินดีเกิน 4,000 IU (100 ไมโครกรัม) ต่อวัน
เพราะอาจทำให้เกิดพิษจากการได้รับวิตามินดีมากเกินไปได้ การได้รับวิตามินดีในปริมาณที่มากเกินไป อาจทำให้เกิดการสะสมของแคลเซียมที่กระดูกมากเกินไป หลอดเลือดเเข็งตัว และอาจทำให้การทำงานของ ไต ปอด และหัวใจทำงานผิดปกติได้
อาการของการได้รับวิตามินดีมากเกินไป ได้แก่ ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน ปากแห้ง การรับรสผิดปกติ ท้องผูก หรือท้องเสีย
เรียบเรียงโดย ภญ.ปุณยวีร์ กิจชาญวิทย์
เอกสารอ้างอิง
- The Nutrition Source. 2022. Vitamin D. [online] Available at: https://www.hsph.harvard.edu/nutritionsource/vitamin-d/.
- Bangkokhospital.com. 2022. วิตามินดี วิตามินที่ถูกลืม | Bangkok Hospital. [online] Available at: https://www.bangkokhospital.com/content/vitamin-d-forgotten-vitamins.
- Bumrungrad.com. 2022. วิตามินดีมีดีกว่าที่คิด | โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์. [online] Available at: https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/march-2019/vitamin-d.
- Medicalnewstoday.com. 2022. Vitamin D: Benefits, deficiency, sources, and dosage. [online] Available at: https://www.medicalnewstoday.com/articles/161618#sources-of-vitamin-d.